ต้อกระจก

ต้อกระจก

Cataracts (คาทะแรคซ์)

 

บทความโดย: ภาสันต์ – สุระพันธ์ ภาสุระพันธ์

ตรวจสอบโดย: นักทัศนมาตร พลอยชมพู ภาสุระพันธ์

 

“ต้อกระจกเป็น 1 ในสาเหตุที่ทำให้ตาบอดมากที่สุดในโลก”

 

อะไรคือต้อกระจก?

     ต้อกระจกเป็นภาวะที่เลนส์ตา (ในเด็กแรกเกิดจะใสปิ๊ง) มีอาการขุ่นมัวขึ้น ส่วนใหญ่แล้วพบมากในผู้สูงอายุเนื่องจากอาจมีสาเหตุจากความเสื่อมตามวัย(สาเหตุอื่นๆ เช่นการกระทบกระเทือนจากอุบัติเหตุ ยาบางตัว โรคบางโรค) ต้อกระจกนั้นไม่ได้เกินขึ้นทันทีแต่จะค่อยๆขุ่นมัวขึ้นเรื่อยๆ เลนส์ตาของเรานั้นประกอบด้วยน้ำและโปรตีน การสะสมและการเปลี่ยนแปลงของโปรตีนทำให้เกิดต้อกระจกครับ

     สมัยนี้ต้อกระจกไม่ใช่เรื่องใหญ่เหมือนเมื่อก่อน เราสามารถรักษาให้หายได้โดยทำการผ่าตัดเอาเลนส์ตาที่ขุ่นมัวออกแล้วใส่เลนส์เทียมที่ใสเข้าไปแทนซึ่งการผ่าตัดนั้นใช้เวลาเพียง 10-20 นาทีเท่านั้น

ลักษณะ

Source:https://www.webmd.com/eye-health/cataracts/ss/slideshow-cataracts


     โดยปกติแล้วเลนส์ตาของเราควรจะใส แต่ต้อกระจกนั้นเป็นภาวะที่เลนส์ตาของเราขุ่นมัวและเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ทำให้แสงไม่ผ่านทะลุได้เต็มที่ จากวัตถุโปร่งใสกลายเป็นวัตถุโปร่งแสง ลักษณะจะคล้ายๆกระจกฝ้า เมื่อเราส่องไฟเข้าไปทำให้แสงผ่าทะลุไม่ได้เต็มที่

 

อาการ


     เลนส์ตาของเรานั้นสร้างมาจากน้ำและโปรตีน การเรียงตัวของโปรตีนของเลนส์ตานั้นทำให้เลนส์ตาของเราใสอยู่ตลอด อย่างไรก็ตาม มนุษย์เราเมื่ออายุมากขึ้นการทำงานของร่างกายก็ย่อมมีเสื่อมถอย ดังนั้นจะมีโปรตีนบางส่วนจะจับตัวเกาะกัน ทำให้เลนส์ตาของเรานั้นเกิดอาการขุ่นมัวและเมื่อทับถมกันเป็นระยะเวลานานจะทำให้การมองเห็นแย่ลงได้

อาการช่วงแรกๆของบุคคลที่เริ่มเป็นต้อกระจกนั้นอาจจะมีอาการมองภาพเบลอเล็กน้อย ซึ่งบางคนอาจไม่รู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย แต่เมื่ออาการเริ่มแสดงออก การมองเห็นจะแย่ลงอย่างเห็นได้ชัด

อาการที่อาจสามารถสังเกตุเห็นได้มีดังนี้

1.มองเห็นเป็นจุด

2.มองเห็นห่วงวงแหวนเมื่อมองกับหลอดไฟที่สว่างมาก

3.ไม่สามารถมองเห็นได้ดีในที่แสงจ้า ผู้มีอาการมักจะบ่นว่าแสงจ้าทั้งๆที่แสงไม่ได้จ้า

4.มีอาการขับรถตอนกลางคืนแล้วปวดหัว, วิงเวียนเมื่อมองไปยังไฟหน้ารถคันอื่น

5.หากเป็นมากเมื่อไปตรวจสายตาเพื่อแก้ไขที่ร้านแว่น จะไม่สามารถแก้ไขด้วยแว่นสายตาได้ (ในกรณีนีควรพบจักษุแพทย์)

สาเหตุ

     บางการวิจัย ยังสรุปไม่ได้แน่นอนว่าอะไรทำให้เกิดต้อกระจกแน่นอนแต่มีหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดต้อกระจก ส่วนใหญ่อาการขุ่นมัวนั้นเกิดจากโปรตีนที่ทับถมสะสมกันทำให้เลนส์ตาขุ่นมัว

ปัจจัยที่สามารถทำให้เกิดต้อกระจกอาจเป็นดังนี้



1.การกินอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ

2.สูบบุหรี่

3.เบาหวาน

4.บุคคลที่ใช้ยาสเตียรอยด์

5.พันธุกรรมสำหรับบุคคลที่ในครอบครัวมีประวัติเป็นต้อกระจก

6.รังสี UV (ชาวนา, นักบิน, นักกอล์ฟ หรือ บุคคลที่อยู่กลางแจ้งเป็นหลัก)

7.ความดัน

8.การดื่มแอลกอฮอล์

9.บุคคลที่มีสายตาสั้นมากๆ



"เราจะรู้ได้อย่างไรถ้าเราเป็นต้อกระจก?"



ต้อกระจกนั้นสามารถตรวจคัดกรองได้กับจักษุแพทย์, นักทัศนมาตร หรือ ช่างแว่นตาที่มีประสบการณ์สูง

แก้ไข


     ผู้ที่เริ่มเป็นต้อกระจกระยะเริ่มแรกยังไม่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดโดยมีข้อแม้ว่าต้อกระจกนั้นยังไม่ได้รบกวนการมองเห็นในชีวิตประจำวัน ความสามารถในการมองเห็นในขณะที่เป็นต้อกระจกนั้นจะแย่ลงเร็ว หรือ ช้า นั้นขึ้นอยู่กับตัวบุคคลนั้นๆ บางคนแย่ลงอย่างชัดเจน บางคนไม่ได้แย่ลงเร็ว

     แต่ถ้าต้อกระจกนั้นรบกวนการใช้ชีวิตของเราในประจำวันได้อย่างชัดเจน อย่างเช่นบุคคลที่ต้องขับรถ (มีปัญหาเมื่อมองไฟแล้วเกิดอาการวิงเวียน) ทำงานเอกสารแล้วไม่สามารถอ่านหนังสือได้ชัดเจน การผ่าตัดนั้นมีความจำเป็น และหากจักษุแพทย์วินิจฉัยว่า ระดับความรุนแรงของต้อกระจกอาจส่งผลต่อโรคตาอื่นๆ เช่น ต้อหิน การผ่าตัดนั้นมีความจำเป็นทันที

การรักษา

1. แว่นตา

การมองเห็นในต้อกระจกบางเคสจะสามารถรักษาได้ด้วยการเปลี่ยนเลนส์แว่นตาใหม่ช่วยทำให้การมองเห็นดีขึ้น อย่างไรก็ตามจะมีบางเคสที่ไม่สามารถรักษาด้วยแว่นสายตาได้ ไม่ว่าจะเพิ่มหรือลดสายตา หากการมองเห็นไม่ดีขึ้น ในกรณีนี้ต้องผ่าตัด

 

2.ยารักษา

ในปัจจุบัน ยังไม่มี ยาหยอดตา, เลเซอร์ หรือ ยากิน ที่สามารถรักษาต้อกระจกได้ หนทางเดียวในการรักษาต้อกระจกนั้นคือ การผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตา

 
3.การผ่าตัด

การผ่าตัดนั้นในรายที่ไม่มีความซับซ้อนจะใช้เวลาเพียง 10-20 นาทีเท่านั้น (ไม่รวมเวลาเตรียมตัวและการพักฟื้นหลังผ่าตัด) บุคคลที่ได้รับการผ่าตัดแล้วส่วนใหญ่ สายตามองไกลนั้นจะแทบไม่มีสายตาหลงเหลืออยู่เลย แต่ยังต้องใช้แว่นสายตาสำหรับอ่านหนังสือ บุคคลบางท่านอาจจะต้องใส่แว่นกันแดดสักระยะหลังผ่าตัดเนื่องจากตายังไม่มีความสามารถสู้แสงได้ (ต้องรับฟังและทำตามคำแนะนำของจักษุแพทย์อย่างเคร่งครัด)

สุดท้ายนี้ ทุกท่านครวจะได้รับการตรวจตา หรือ ตรวจสายตาอย่างน้อย ปีละ 1 ครั้งนะครับ อย่างต้องให้เกิดแล้วค่อยมาแก้ไข การป้องกันเป็นสิ่งที่ดีที่สุดครับ ด้วยความปรารถนาดีจาก โชคดีการแว่น

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้