สายตายาวอ่านหนังสือ

สายตายาวอ่านหนังสือ

บทความ: ภาสันต์-สุระพันธ์ ภาสุระพันธ์
ตรวจทาน: พลอยชมพู ภาสุระพันธ์ , Optometrist

สายตายาวอ่านหนังสือ (Presbyopia)

 

"ระบบโฟกัสภาพระยะใกล้ทำงานด้อยลงซึ่งเกิดจากการที่เลนส์ตาและกล้ามเนื้อตาเสื่อมลง"

 

สายตายาวอ่านหนังสือนั้นเป็นอาการที่เกิดขึ้นกับทุกคนเป็นอาการธรรมดาที่แสดงให้เห็นว่าการทำงานของอวัยวะในร่างกายเริ่มทำงานได้ไม่ดีเท่ากับวัยหนุ่มสาว เมื่อเราอายุมากขึ้นส่วนต่างๆของร่างกายเราจะมีการเสื่อมถอยลง การที่เราเริ่มมองระยะใกล้ไม่ชัดนั้นเกิดมาจาก 2 สาเหตุ หลัก อย่างแรกคือเลนส์ตามีความยืดหยุ่นน้อยลง อย่างที่สองคือการเสื่อมถอยของกล้ามเนื้อปรับโฟกัสเลนส์ตา

 

เข้าใจการทำงานของตาเราเวลาต้องมองวัตถุที่ระยะใกล้

 

ในการมองวัตถุใกล้ๆสมองจะสั่งให้ดวงตามีการปรับโฟกัสซึ่งจะเหมือนกับการทำงานของกล้องเลย ซึ่งเวลาที่เราจะต้องถ่ายวัตถุอะไรใกล้ๆกล้องจะต้องมีการปรับโฟกัส กล่าวได้ว่าการปรับโฟกัสของกล้องนั้นเลียนแบบการปรับโฟกัสของตาเรานั้นเอง

 

กระบวนการปรับโฟกัสของเรา

 


 

      ถ้าไม่มีการปรับโฟกัส เวลาเรามองวัตถุอะไรใกล้ๆนั้นจะมีอาการคล้ายกับบุคคลที่มีสายตายาวจุดโฟกัสจะไปตกอยู่ที่ด้านหลังจอรับภาพ ซึ่งทำให้ภาพเบลอ แต่ร่างกายเราจะมีระบบการปรับโฟกัส ดังนั้นการที่เราจะมองวัตถุใกล้ๆชัดนั้น เลนส์ตาจะต้องโป่งพองออกโดยอาศัยการหดตัวของกล้ามเนื้อเพื่อดึงจุดโฟกัสมาจากด้านหลังจอรับภาพ กล่าวได้ว่าเลนส์ตาของเรานั้นทำหน้าที่เหมือนแว่นขยายอัตโนมัติ

 


      แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป ของอะไรที่เราใช้ไปนานๆก็จะมีการเสื่อมถอยลง เลนส์ตากับกล้ามเนื้อปรับโฟกัสเลนส์ตา เมื่อเลยจุดพีคของมันมาแล้วจะอยู่ในขาลงหรือช่วงเสื่อมถอย เลนส์ตากับกล้ามเนื้อตาจะไม่สามารถทำงานได้เต็มที่เหมือนเมื่อก่อน

 

 

สาเหตุ

 

"ทำไมเลนส์ตาถึงเสื่อมลงได้ ?"

1.     เลนส์ตาที่แข็งตัว – รู้หรือใหม่ว่าเลนส์ตาประกอบไปด้วยตัวเลนส์หลายๆชั้น และเลนส์ตาของเรานั้นมีการผลิตขึ้นมาใหม่ตลอด ซึ่งโครงสร้างของเลนส์ตาของเรานั้นจะเหมือนหัวหอม ทุกๆวันผ่านไป ชั้นนอกสุดของเลนส์ตาจะสร้างขึ้นมาทับชั้นก่อนหน้าและสร้างไปเรื่อยๆ ส่วนเลนส์ที่สร้างมาก่อนหน้านั้นจะมีการทับถมไปเรื่อยๆ เมื่อมีจำนวนมาขึ้นเรื่อยๆ เลนส์ตาจะมีความแข็งและขาดความยืดหยุ่น นี่คือหลักการทำไมเลนส์ตาถึงแข็งเวลาเราอายุมากขึ้น

 

 

 

อาการ

 

แบบที่1

 

Incipient Presbyopia -  จะเป็นอาการเริ่มแรกซึ่งจะแสดงอาการมาเวลาอ่านพวกฉลากยาตัวเล็กๆ จะเริ่มรู้สึกว่าตัวหนังสืออ่านยากมากขึ้น



แบบที่ 2

 



Functional Presbyopia - เป็นอาการที่เริ่มพบในคนอายุ 38-40 ปี เช่น อ่านหนังสือจะไม่ค่อยทน มีอาการทำงานแล้วปวดตาเป็นระยะๆ



แบบที่ 3

 


Absolute Presbyopia  –  เป็นอาการที่เราเป็นสายตายาวอ่านหนังสือแบบเต็มตัว หรือระบบการเพ่งของเราลดลงเหลือศูนย์ บุคคลเหล่านี้จะไม่สามารถอ่านหนังสือที่ระยะใกล้ได้เลยถ้าไม่มีแว่นอ่านหนังสือ



แบบที่ 4


Premature Presbyopia  – พบในผู้ที่มีภาวะสายตายาวระยะใกล้ก่อนวัยอันควร (ก่อนวัย38-40ปี) เช่น ทำงานคอมพิวเตอร์หรืออ่านหนังสือแล้วมีอาการปวดตา ตัวหนังสือระยะใกล้เริ่มไม่ชัด ควรหาสาเหตุว่าเกิดจากอะไร เช่น มีสายตายาวซ่อนเร้น, มีโรคแทรกซ้อนอื่นๆ เป็นต้น

 

 

ตัวอย่าง ของบุคคลที่มีสายตายาว

 

สมมติ Steve (สตีฟ) อายุ 40 ปี ใส่แว่นอยู่แล้วมีสายตาสั้นอยู่ที่ -4.00 D  พักหลัง สตีฟบ่นปวดตาเวลาอ่านหนังสือ หรือ ทำงานคอมพิวเตอร์ และเวลาอ่านหนังสือต้องยืดแขนถึงจะมองชัด ทางร้านโชคดี วัดตาให้ สตีฟ ปรากฏว่า สายตามองไกลของสตีฟนั้นปกติสามารถมองได้เห็นถึงแถวสุดท้าย

 

แต่เวลาหาค่าสายตาการอ่านหนังสือที่ระยะ 40 cm  สายตา -4.00D นั้นทำให้ สตีฟปวดหัวต้องยืดสุดแขนถึงจะชัด พอทางร้านใช้เลนส์ที่มีค่ากำลัง +1.00 เสริมเข้าไป สตีฟสามารถมองหนังสือได้ชัดและสบายตา แต่เวลาสตีฟเงยหน้าขึ้นมามองระยะไกลกลับเห็นไม่ชัดแล้ว

ถ้าเราเป็นบุคคลที่ใช้แว่นอยู่แล้วอย่างเช่นมีสายตาสั้นที่ -4.00 อ้างอิงจาก Donder’s Table ถ้าเราอายุ 45 ปี เราจะขาดกำลังเพ่งไป +1.00 หรือ +1.50 D (ขึ้นอยู่กับบุคคลนั้นๆ)

 

 

ดังนั้นถ้าสตีฟอยากจะมองชัดที่ 40cm สตีฟจะต้องตัดแว่นที่มีสายตา (-4.00) + (+1.00) = -3.00 D

อย่างไรก็ตามถ้าเรามีสายตามองไกล -4.00 ถ้าเราไปใส่แว่นมองใกล้ -3.00 นั้นหมายความว่า ระยะไกลแว่นที่เราใส่อยู่นั้น อ่อนไป -1.00

 

"ดังนั้นเวลาไปร้านแว่น เราจะต้องเข้าใจว่าต้องการทำแว่นแบบไหน มองไกล หรือ มองใกล้"



ถ้าเราวัดสายตามาได้ -4.00 D (อันนี้เป็นสายตามองไกล)

สายตามองใกล้จะต้องเป็น –3.00 D (อันนี้เป็นสายตามองใกล้)

 

** บุคคลที่มีสายตายาวอยู่แล้ว อาจจะเกิดสายตายาวอ่านหนังสือก่อนกว่าบุคคลที่มีสายตาสั้น

 

*** บุคคลที่ต้องทำงานฝืมือระยะใกล้เป็นระยะเวลานานๆ หรือเล่นโทรศัพท์ Smartphone ที่ระยะใกล้เกินมาตรฐาน, ทำงานกลางแจ้งซึ่งต้องพบกับรังสี UV มีความเป็นไปได้ว่าจะทำให้เกิดสายตายาวอ่านหนังสือก่อนวัย

 

การแก้ไข

 

1.แว่นอ่านหนังสือชั้นเดียว

 

แว่นอ่านหนังสือชั้นเดียว เป็นแว่นสำหรับอ่านหนังสือที่ดีที่สุดแต่มีข้อจำกัดคือสามารถมองได้แค่ระยะเดียวเท่านั้น ส่วนมากระยะมาตรฐานที่วัดสายตาจะอยู่ที่ 40 ซม. (ระยะยืดหยุ่น 5 ถึง 20 cm ขึ้นอยู่กับช่วงอายุ) ซึ่งในความเป็นจริงแล้วในชีวิตประจำวันเวลาเราทำงานเรามักจะใช้สายตามองสิ่งรอบข้างด้วย

 

2. แว่นซูปเปอร์อ่านหนังสือ

 

เป็นแว่นที่ออกแบบมาให้ทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ได้สะดวกและเป็นแว่นเฉพาะเจาะจงสำหรับทำกิจกรรมนั้นๆ ช่วยให้มีระยะยืดหยุ่นในการมองได้ดีกว่าแว่นอ่านหนังสือทั่วไป เพิ่มความสะดวกในการทำงานที่ต้องปรับเปลี่ยนระยะการมองไปมาระหว่างเอกสารและคอมพิวเตอร์ 

 

3.แว่นโปรเกรสซีฟ

 

เป็นแว่นอเนกประสงค์ทั่วไป สามารถใช้มองชัดได้ทุกระยะ เหมาะสำหรับการใช้งานปกติทั่วไป ไม่เจาะจงการทำงานระยะใดระยะหนึ่งเป็นพิเศษ แต่สามารถใช้มองไกลได้ดี และ สามารถใส่อ่านหนังสือหรือทำงานได้ด้วย แต่พื้นที่ในการมองระยะใกล้จะมีจำกัด เหมาะสำหรับใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อความสะดวกสบายให้แก่ชีวิตในการมองไกลและใกล้โดยไม่ต้องสลับเปลี่ยนแว่นไปมา

 

4. คอนแทคเลนส์ มัลติโฟคอล

 

 

เป็นคอนแทคเลนส์แก้ไขสายตายาวอ่านหนังสือเทคโนโลยีใหม่ที่เพิ่งเข้าเมืองไทยได้ไม่นาน แต่มีข้อจำกัดคือความคมชัดของภาพจะด้อยกว่าแว่นตาโปรเกรสซีฟอยู่ 10-20% แล้วแต่บุคคล ซึ่งเหมาะสำหรับ



4.1  บุคคลที่สายตาเอียงไม่เกิน -0.50

4.2  สายตาสั้นไม่เกิน -10.00

4.3 มีประสบการณ์ใส่คอนแทคเลนส์มาก่อน

 

 

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้